วันศุกร์ที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2559

หน้าฝนระวังเชื้อราในบ้าน เสี่ยงสะสมโรค


ระวังเชื้อราสะสมในบ้านช่วงหน้าฝน แนะจัดการสิ่งแวดล้อมภายในบ้านให้ถูกสุขลักษณะ

น.พ.ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่าในช่วงฤดูฝนทำให้อากาศภายในบ้านมีความชื้นสูง และฝนตกหนักอาจทำให้เกิดน้ำท่วมและน้ำขังในพื้นที่ต่างๆ รวมึงในบริเวณบ้าน และหากมีรูรั่วหรือรอยแตกของบ้าน อาจมีน้ำซึม น้ำรั่วไหลเข้าภายในบ้าน ทำให้ส่วนต่างๆ ของบ้านเปียกและอับชื้น เกิดเป็นแหล่งของเชื้อราได้ ซึ่งเชื้อรานั้นพบได้ในธรรมชาติ ทั้งจากในบ้านและนอกบ้าน โดยเชื้อราจะสร้างสปอร์สำหรับสืบพันธุ์ เมื่อสปอร์ของเชื้อราลอยไปอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีความชื้นและอาหารที่เหมาะสม จะทำให้เชื้อราเจริญเติบโต สีของเชื้อรา มีตั้งแต่สีดำ น้ำตาล เขียว แดง เหลือง และขาว สามารถพบได้เป็นกลุ่มๆ ในบริเวณที่มีความอับชื้น เช่น ฝ้าและผนัง เพดาน เฟอร์นิเจอร์ ใต้พรม เครื่องนอน เครื่องปรับอากาศ หากสปอร์ของเชื้อราเข้าสู่ร่างกาย จะทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพต่างๆ ตามมา เช่น หากเข้าตาและจมูกจะทำให้เกิดการระคายเคือง มีอาการจาม น้ำมูกไหล มีไข้ บางรายก่อให้เกิดโรคหอบหืด ภูมิแพ้ และปอดอักเสบ

รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ประชาชนต้องตัดการสิ่งแวดล้อมภายในบ้านให้ถูกสุขลักษณะ เป็นระเบียบเรียบร้อย สะอาด มีการระบายอากาศที่ดี และมีแสงสว่างจากธรรมชาติส่องเข้าถึงภายในบ้านเพื่อลดความชื้น ลดฝุ่นละออง ลดแหล่งเพาะพันธุ์เชื้อโรคภายในบ้านและลดโอกาสของการเกิดโรคภูมิแพ้ โดยเฉพาะบ้านที่มีเด็กเล็กหรือคนชราซึ่งเป็นกลุ่มอ่อนไหวต่อการเกิดปัญหาสุขภาพ 

การจัดบ้านให้ถูกสุขลักษณะอย่างง่าย เช่น 

ห้องนอน ต้องมีอากาศถ่ายเทได้สะดวก โดยเริ่มตั้งแต่เปิดประตู หน้าต่าง และควรเปิดรับแสงสว่างจากธรรมชาติเป็นประจำ 

ห้ามเปิดพัดลมหรือเครื่องปรับอากาศขณะทำความสะอาดบ้านหรือขณะกำจัดเชื้อรา เพราะจะทำให้สปอร์เชื้อราฟุ้งกระจาย 

นอกจากนี้ ควรทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคในเครื่องใช้ เครื่องเรือน เครื่องนอน และเฟอร์นิเจอร์ เช่น ฟูกที่นอน หมอน พรม เป็นประจำ 

ส่วนวอลล์เปเปอร์หรือฉนวนกันความร้อนที่ไม่สามารถนำกลับมาใช้ได้อีกต้องนำไปทิ้งในถุงที่ปิดมิดชิดโดยทันทีเพื่อป้องกันการฟุ้งกระจายของเชื้อรา


"สามารถเช็ดทำความสะอาดบ้านเรือนที่ปนเปื้อนเชื้อราได้ 3 ขั้นตอน คือ 

1. พื้นผิววัสดุที่พบเชื้อราให้ใช้กระดาษทิชชูแผ่นหนาและขนาดใหญ่ หรือกระดาษหนังสือพิมพ์พรมน้ำให้เปียกเล็กน้อย เช็ดพื้นผิวไปในทางเดียว แล้วนำกระดาษทิชชูหรือกระดาษหนังสือพิมพ์ดังกล่าวทิ้งลงในถังขยะที่ปิดมิดชิด 

2. ใช้กระดาษทิชชูแผ่นหนาและขนาดใหญ่ หรือกระดาษหนังสือพิมพ์ชุบลงในน้ำผสมกับสบู่หรือน้ำยาล้างจาน เช็ดซ้ำในจุดที่มีเชื้อราอีกครั้ง 

3. ใช้น้ำยาฆ่าเชื้อรา เช่น น้ำส้มสายชู 5–7 เปอร์เซ็นต์ หรือแอลกอฮอล์ความเข้มข้น 60-90 เปอร์เซ็นต์ เช็ดทำความสะอาดเพื่อเป็นการทำลายเชื้อในขั้นตอนสุดท้าย 

ดังนั้นในช่วงฤดูฝนนี้ขอให้ประชาชนร่วมกันดูแลรักษาบ้านเรือนของท่านเอง เพื่อป้องกันปัญหาเชื้อรา เชื้อโรค และฝุ่นละออง อันเป็นการส่งเสริมการมีสุขภาพที่ดีของคนในครอบครัวต่อไปน.พ.ดนัย กล่าว


http://www.thaihealth.or.th/Content/31634-%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%9D%E0%B8%99%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%8A%E0%B8%B7%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%9A%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%99%20%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%A2%E0%B8%87%E0%B8%AA%E0%B8%B0%E0%B8%AA%E0%B8%A1%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%84.html

เครดิตภาพ  https://www.pinterest.com/milanzewald/huis/